ในบางวัน เราจะได้พบกับหนังที่มีความโดดเด่นเป็นของตัวเอง งานแบบนั้นมันต้องประกอบขึ้นด้วยคนเก่งๆ ในแต่ละด้านที่มาผสานความสามารถเข้าด้วยกัน ทั้งด้านงานเขียนบท การกำกับนักแสดง การออกแบบศิลป์ การถ่ายทำ การตัดต่อและรวมเข้ากับซาวด์ดนตรีที่ประกอบ ถ้าทีมงานทั้งหมดล้วนเก่งและประสมเข้ากันดี ผลงานจึงออกมาสมบูรณ์และเป็นที่จดจำ วันหนึ่ง เราเคยได้พบพานงานเหล่านั้นจากเขา และวันนี้ เราได้พบเจอเขาอีกครั้งใน ‘Decision to Leave ฆาตกรรมรัก หลังเขา’

การคัมแบ็กครั้งที่สมศักดิ์ศรีที่สุดของ ถังเหว่ย หลังแจ้งเกิดใน ‘Lust, Caution’ เมื่อปี 2007 ครั้งนี้ เธอได้โคจรมาพบกับนักแสดงชายเจ้าบทบาทอย่าง พัคแฮอิล ที่ผ่านงานจากฝีมือผู้กำกับชั้นนำของเกาหลีมาหลายเรื่อง กับภาพยนตร์ที่ร่วมเขียนบทและกำกับโดย พัคชานอุค คนที่หลายคนรู้จักผลงานของเขาเป็นอย่างดี
เรื่องย่อหนัง ‘Decision to Leave’
มันคือเรื่องราวของ แฮจุน (Park Hae It/พัคแฮอิล จากหนังเรื่อง ‘Memories of Murder’ , ‘A Muse’ และ ‘The Host’) สารวัตรที่หนุ่มที่สุด นักสืบหนุ่มที่ต้องทำงานสืบสวนเพื่อสืบหาฆาตกรของเหตุฆาตกรรมและปิดคดี แต่หลายๆ คดีที่เขาสืบก็ดูเหมือนยากจะปิดลง แถมยังมีคดีใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ อย่างเช่นวันหนึ่ง ที่เขาพบว่าเหตุการตายของชายวัยหกสิบผู้หนึ่ง เขาตกของหน้าผาสูงชัน เสียชีวิตเพราะกระโหลกศีรษะแตก ซึ่งนั่นก็นำพาให้เขาได้พบกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นภรรยาสาวชาวจีนของผู้ตาย เธอคือ ซอแร (Tang Wei/ถังเหว่ย จากหนังเรื่อง ‘Lust, Caution’, ‘Blackhat’ และ ‘Finding Mr. Right’) ผู้กลายเป็นภรรยาสาวม่าย เธอเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าสามีและเก็บงำความลับอันดำมืดเอาไว้ภายใต้ใบหน้าและจริตอันแพรวพราวและเปี่ยมเสน่ห์
ตัวอย่าง
รีวิวหนัง ‘ฆาตกรรมรัก หลังเขา’ หนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังคานส์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แถมได้รับประทับตรา Official Selection เป็น ที่ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการจากเทศกาล ผลงานจากผู้กำกับ พัคชานอุค ที่เคยมอบความอึ้ง ทึ่ง เหวอให้กับผู้ชมในผลงานไตรภาคมหากาพย์แห่งการล้างเเค้น ‘The Vengeance Trilogy’ อันประกอบไปด้วย ‘Sympathy for Mr. Vengeance’ (2002), ‘Oldboy’ (2003) และ ‘Lady Vengeance’ (2005) ไม่เท่านั้น เขายังเคยกำกับ ‘The Handmaiden’ ที่ลือลั่นมาแล้วด้วยเช่นกัน ครั้งนี้ เขาจะเล่าเรื่องราวแนวๆ ‘มารยาหญิงหนึ่งพันเล่มเกวียน’ ให้ผู้ชมได้เสพความลับอันดำมืด ที่ผสมเอาไว้ทั้งเรื่องเสน่หา ฆาตกรรม ความลุ่มหลง และเรื่องผิดศีลธรรม กันอีกครั้ง

พระ-นาง ต่างก็สวมบทบาทกันได้ยอดเยี่ยม
ถังเหว่ยในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้มาในรูปลักษณ์ที่สวยงามด้วยเครื่องสำอางเท่าไหร่นัก บุคลิกของซอแรในหนังแลดูโทรมๆ แต่ก็ไม่อาจบดบังเสน่ห์และความสวยของเธอเอาไว้ได้ รอยยิ้มและจริตของเธอทำให้ผู้ชายอย่างนักสืบหนุ่มหลงไหลจนถอนหัวไม่ขึ้น เขาติดตามสอดแนมจนล่วงรู้กิจวัตรของเธอทุกย่างก้าว ขณะที่เธอเองก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ามีเขาที่ซุ่มดูเธออยู่ที่ไหนสักแห่ง
ส่วนพัคแฮอิลก็กลายร่างเป็นตำรวจนักสืบที่เหมือนจะเก่งกาจ แต่พอเจอนางเอกเข้าก็อ่อนระทวย ยอมทุกอย่าง กระทั่งตามไปสอดแนมทั้งที่บ้านที่ทำงาน เรียกให้ไปหาก็ไป จนคนดูนึกสงสัยอยู่ในใจว่าเขาคือนักสืบหรือทาสกันแน่


งานภาพ งานตัดต่อ สุดเฉียบคม
ผมชมชอบในมุมมองภาพ การจัดแสง การใส่ซาวด์ประกอบ การตัดต่อที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงสองสามสิ่งให้อยู่ในเนื้อเดียวกันได้อย่างเหลือเชื่อ เขาหยิบเอาช็อตเล็กช็อตน้อยของสองอย่างที่อยู่ต่างบริบทมาเรียงต่อกันได้อย่างน่าทึ่ง และใช้ภาษาภาพในการเล่าเรื่องได้โคตรเก่ง บางทีก็จับตัวละครมาอยู่ร่วมซีนกันทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่กันคนละที่หรืออาจแค่คุยโทรศัพท์กัน เท่านั้นไม่พอ เขายังเลือกจะเล่าแบบปั่นหัวคนดู พาพวกเขานั่งสงสัยกันไปว่า ตกลงแล้วซอแรฆ่าสามีตัวเองจริงๆ หรือไม่กันแน่ นอกจากปั่นหัวคนดู แล้วยังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้าย
บางทีก็นั่งคิด วลีที่ว่า ‘ยิ่งตกหลุมรัก ยิ่งตกหลุมพราง’ ไม่รู้เป็นนักสืบหรือคนดูกันแน่ที่ตกหลุมพรางของนางเอก
ดูเผินๆ อาจจะคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะดูยาก เอาจริงๆ มันเป็นหนังที่เข้าใจง่าย แค่เดินเรื่องแบบปั่นหัวคนดูเท่านั้นเอง ซึ่งแต่ละช็อตแต่ละฉาก จำเป็นอย่างที่ต้องใช้สมาธิกับมัน ถ้าพลาดไปเพียงนิดเดียวก็อาจตกหล่นใจความสำคัญไปได้
